ความหมายของ"การตลาด"

คำว่า “การตลาด” ได้มีผู้ให้ความหมายของคำจำกัดความไว้หลายประการด้วยกัน เช่น

- หมายถึง กระบวนการธุรกิจในการทำให้เกิดการซื้อขายและนำความพอใจสูงสุดมาสู่ผู้ผลิตและ
ผู้บริโภค

- หมายถึง กระบวนการดำเนินการธุรกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อวางแผนผลิตภัณฑ์และหรือการบริการกำหนดราคา ส่งเสริมการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพอใจ

ถ้าพิจารณาความหมายของการตลาด ตามหลักเหตุผลของมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์เราจะให้คำจำกัดความได้ดังนี้

“การตลาด หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ที่มุ่งสนองความต้องการ โดยกระบวนการแลกเปลี่ยน”

เมื่อมนุษย์เกิดความจำเป็นที่ต้องการอากาศหายใจ ต้องการอาหารและน้ำ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ต้องการเสื้อผ้าสวมใส่และอื่นๆ เพื่อสนองความต้องการและความพอใจ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่การตลาด การที่จะมีการตลาดจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โอกาสที่มนุษย์จะได้สินค้าที่จะทำให้เขาพอใจ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 การช่วยตัวเอง คือ เมื่อมนุษย์เกิดความต้องการทางอาหาร ก็จะดับความต้องการของตนโดยพยายามตกปลา ล่าสัตว์ หรือเก็บผลไม้รับประทานเอง โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับใคร ในกรณีนี้ถือว่าไม่มีตลาด และไม่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทางเลือกที่ 2 การบังคับขู่เข็ญ เมื่อมนุษย์เกิดความหิวและไม่มีความสามารถหาอาหารได้ ก็อาจจะขโมยอาหารของคนอื่น

ทางเลือกที่ 3 การอ้อนวอน เมื่อเกิดความต้องการ มนุษย์จะขอความกรุณาจากผู้อื่นให้บริจาคอาหาร

ทางเลือกที่ 4 การแลกเปลี่ยน เมื่อมนุษย์เกิดความต้องการจะพยายามติดต่อผู้ที่มีอาหารและจะยื่นข้อเสนอบางสิ่งบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารนั้น โดยการให้เงิน สินค้าอื่น หรือบริการใดๆ ก็ได้เป็นการแลกเปลี่ยน

ดังนั้นการตลาดเกี่ยวข้องกับทางเลือกสุดท้าย คือการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สินค้าและบริการเพื่อให้มนุษย์พอใจ และสนองความต้องการ การแลกเปลี่ยนจะต้องประกอบด้วยสภาวการณ์ดังต่อไปนี้

1. ต้องมีบุคคล 2 กลุ่ม

2. แต่ละกลุ่มต้องมีสิ่งที่มีคุณค่าต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

3. แต่ละกลุ่มจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารคมนาคม และการขนส่ง

4. แต่ละกลุ่มต้องมีอิสรภาพในการตอบรับหรือปฎิเสทข้อเสนอ

ถ้าการแลกเปลี่ยนประกอบด้วยสภาวการณ์ทั้ง 4 ดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นแต่จะมีการเปลี่ยนจริงๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า 2 กลุ่มนั้นจะสามารถหาข้อตกลงในการแลกเปลี่ยน ที่จะให้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรืออย่างน้อยไม่เสียผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

แนวความคิดของการแลกเปลี่ยนนำมาสู่แนวความคิดของตลาด

คำว่า “ตลาด” หมายถึง สถานที่ที่สำหรับการแลกเปลี่ยน

ตัวอย่าง สมมุติว่านักศิลปะผู้หนึ่งใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ในการปั้นรูปผู้หญิงอย่างสวยงาม เขาได้กำหนดระดับราคาหนึ่งเอาไว้ในใจสำหรับสินค้านี้ คำถามที่เขาคำนึงคือ จะมีใครเต็มใจแลกเปลี่ยนเงินจำนวนนั้นกับรูปปั้นหรือไม่ ถ้ามีอย่างน้อย 1 คน เราเรียกได้ว่ามีตลาด ส่วนขนาดของตลาดจะแตกต่างกันตามราคา นักศิลปะผู้นี้อาจจะเรียกร้องราคาสูงมาก จนกระทั่งไม่มีผู้ใดซื้อรูปปั้นนั้น แต่ถ้าเขาลดราคาลงขนาดของตลาดเพิ่มขึ้น เพราะคนสามารถจะมีเงินจ่ายเพื่อรูปปั้นนั้นได้ ดังนั้นขนาดของตลาดขึ้นกับจำนวนคนที่จะต้องมีทั้ง

1. ความสนใจในสินค้า และ

2. เต็มใจที่จะเสนอแลกเปลี่ยนเพื่อสินค้านั้น

ที่ใดมีโอกาสจะมีการค้าเกิดขึ้น ที่นั่นมีตลาด คำว่า “ตลาด” ถูกใช้บ่อยในความหมายของความต้องการมนุษย์ หรือความต้องการประเภทสินค้า กลุ่มประชากรศาสตร์ และตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างของตลาดความต้องการมนุษย์ คือ การพักผ่อน คนเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนเงินกับการฝึกหัดโยคะหรือการหัดทำอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างของตลาดสินค้า คือตลาดรองเท้า คนเต็มใจที่จะแลกเงินกับสิ่งของคือรองเท้า ตลาดเชิงประชากรศาสตร์ คือ ตลาดเด็กทารก หรือตลาดเด็กวัยรุ่น ที่ชอบแลกเปลี่ยนเงินกับเครื่องเสียงและเครื่องกีฬาเป็นต้น ส่วนตลาดเชิงภูมิศาสตร์ได้แก่ตลาดคนไทย ตลาดคนญี่ปุ่น เป็นต้น

แนวความคิดของตลาดครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนของทรัพยากรด้วย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินแต่เพียงอย่างเดียว เช่น นักการเมืองที่สมัครเป็นผู้แทนราษฎร อาจจะเสนอข้อสัญญาว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดีกับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกคะแนนเสียง เป็นต้น

แนวความคิดของตลาด การตลาดหมายถึงการทำงานเกี่ยวข้องกับตลาด การพยายามที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้มนุษย์ได้รับความพอใจต่อสิ่งที่ต้องการ นั่นคือคำจำกัดความของการตลาด คือการกระทำของมนุษย์ที่มุ่งให้เกิดความพอใจในการสนองความต้องการ โดยกระบวนการ การแลกเปลี่ยน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
 

Lorem Ipsum

Followers

Lorem Ipsum