ปรัชญาของการบริหารการตลาด

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น การบริหารการตลาดเป็นจุดรวมของความพยายามที่จะให้ได้ผลของการแลกเปลี่ยนกับตลาดเป้าหมายให้เป็นที่พอใจ ดังนั้นจึงควรศึกษาว่าปรัชญาอะไรที่เป็นหลักชี้แนะความพยายามทางการตลาดเหล่านี้ องค์การต่างๆ ควรจะมีหลักปรัชญาเพื่อแนะแนวกิจกรรมทางการตลาดและแนวความคิด

ปรัชญาที่ธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติกับกิจกรรมการตลาดมีอยู่ 4 แบบ คือ

1. แนวความคิดด้านสินค้า

เป็นแนวความคิดที่เก่าแก่ที่สุดของผู้ผลิต หมายถึงการดำเนินงานที่เน้นการสมมุติว่าลูกค้าจะพอใจต่อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาพอสมควร บริษัทไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามมากนักในการขายและการทำกำไร นั่นคือบริษัทจะผลิตสินค้าและกำหนดราคาที่ไม่แพง

แนวความคิดด้านสินค้าตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า

1.1 บริษัทควรจะมุ่งความสนใจงานด้านการผลิตสินค้าที่ดีและขายในราคายุติธรรม

1.2 ผู้บริโภคสนใจการซื้อสินค้ามากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจง

1.3 ผู้บริโภครู้ว่ามีสินค้าคู่แข่งที่สามารถหาซื้อได้

1.4 ผู้บริโภคเลือกซื้อระหว่างตราสินค้าต่างๆ โดยพิจารณาจากคุณภาพและราคา

ตัวอย่างของกิจการที่ยังมีแนวความคิดด้านสินค้า ได้แก่ การดำเนินงานของกิจการรถไฟ กิจการรถไฟแน่ใจว่าเป็นรูปแบบของการขนส่ง และการให้บริการประชาชนด้านการเดินทางในราคาที่พอสมควรโดยมองข้ามการเดินทางและการขนส่งในรูปอื่น ซึ่งถือว่าเป็นกิจการคู่แข่ง เช่น เครื่องบิน รถเมล์ รถทัวร์ รถบรรทุก และรถยนต์ เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้ผลิตแฟ้มที่ใช้ในการดำเนินงานบริษัทได้บ่นกับผู้จัดการขายของเขาว่า “แฟ้มนี้ขายไม่ค่อยได้เลย ควรจะขายได้ดีกว่านี้ เพราะแฟ้มของบริษัทเราดีที่สุดในโลก ลองโยนแฟ้มนี้ลงมาจากตึกชั้น 4 แฟ้มนี้จะไม่บุบสลายเลย” ผู้จัดการตอบว่า “ครับใช่ แต่ลูกค้าของเราไม่ได้ตั้งใจจะซื้อแฟ้มเพื่อโยนลงมาจากตึกชั้น 4 นี่ครับ”

องค์การที่ดำเนินงานโดยไม่ได้หวังผลกำไร มักจะมีปรัชญาในการทำงานแบบเน้นที่สินค้าหรือบริการ เช่น วัด ซึ่งคิดว่าเขาเสนอสินค้าหรือบริการที่ดีแก่สาธารณะแล้ว ประชาชนก็น่าจะพอใจ

2. แนวความคิดด้านการขาย

เป็นการดำเนินงานที่เน้นการสมมติว่า โดยปกติผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้าของบริษัทในปริมาณที่มากพอ นอกจากจะถูกเสนอสินค้าด้วยวิธีการพยายามสูงและการส่งเสริมการขายอย่างมากพอของผู้ขาย

แนวความคิดด้านการขายตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า

2.1 งานหลักของบริษัทคือ ขายสินค้าให้ได้เพียงพอ

2.2 โดยปกติผู้บริโภคนั้นจะไม่ซื้อสินค้านั้นมากพอ

2.3 ผู้บริโภคสามารถถูกแนะนำให้ซื้อโดยเครื่องมือกระตุ้นการขายต่างๆ

2.4 ผู้บริโภคอาจจะซื้ออีกหรือถ้าไม่ซื้อ ก็ยังมีลูกค้าอื่นๆ อีกมากมายที่จะซื้อ

บริษัทที่มีแนวความคิดด้านการขายมักจะมองในแง่สินค้าของตนถูกขาย มิใช่ถูกซื้อ เช่น พนักงานขายประกันชีวิตมีความเชื่อว่าคนส่วนมากไม่รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องประกันชีวิต ดังนั้น เขาจึงต้องการลูกจ้างที่มีความพยายามขายอย่างหนักโดยเน้นที่ผลประโยชน์ของการประกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การขายรถยนต์ พนักงานขายจะพยายามพูดถึงข้อดีของรถยนต์ และพยายามบอกลูกค้าว่าจะต้องตัดสินใจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มิฉะนั้นอาจต้องจำเป็นขายให้ผู้อื่น ซึ่งมาดูก่อนหน้านี้แล้ว หรือพนักงานขายพยายามพูดเกี่ยวกับเรื่องราคาว่าจะให้ลูกค้าคนนี้ถูกกว่าผู้อื่นเป็นพิเศษ และห้ามไปบอกใครว่าซื้อได้ในราคาพิเศษ เหล่านี้เป็นความพยายามที่ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อทันที

การใช้แนวความคิดนี้เป็นการเสี่ยง เพราะอาจจะทำให้เสียตลาด อาจจะไม่มีลูกค้าเชื่ออีก การที่จะใช้แนวความคิดนี้ให้ดำเนินไปได้ในระยะเวลายาว ต้องประกอบด้วยสถานการณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ก. ลูกค้าเป็นจำนวนมากรู้ว่าผู้แทนขายเป็นผู้ที่พยายามขายอย่างหนัก และรู้สึกว่าเขาสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้

ข. ลูกค้าที่ไม่พอใจจะลืมความไม่พอใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ค. ลูกค้าไม่พอใจจะไม่พูดกับลูกค้าอื่นถึงความไม่พอใจนี้มากนัก

ง. ลูกค้าที่ไม่พอใจจะไม่บ่นต่อว่าบริษัท

จ. ยังมีลูกค้าที่เป็นไปได้อีกจำนวนมากมาย บริษัทไม่ต้องพึ่งลูกค้ารายเดิม ปรัชญาเช่นนี้มีกลุ่มนักการเมืองหลายกลุ่มที่ยึดแนวความคิดดังนี้ คือพยายามหาคะแนนเสียงเพื่อคนในพรรค นั่นคือต้องพยายามขายตัวเองโดยการให้สัญญาว่าจะทำงานต่างๆ ให้ถ้าตนได้รับเลือกเป็นผู้แทน จึงมีการใช้จ่ายเพื่อโฆษณาตนเอง มีการติดโปสเตอร์ แจกใบปลิว จุดมุ่งหมายคือให้ขายได้ โดยไม่คำนึงถึงความพอใจหลังจากการซื้อแล้ว นั่นคือถ้าเขาถูกเลือกเป็นผู้แทนแล้วเขาอาจจะทำตามหรือไม่ทำตามที่ให้สัญญาไว้ก็ได้

3. แนวความคิดด้านการตลาด

เป็นแนวความคิดที่ถือหลักว่า งานสำคัญของบริษัทคือการพิจารณาถึงสิ่งที่จำเป็นและความต้องการและคุณค่าของตลาดเป้าหมาย และจะต้องปรับองค์การให้สามารถสร้างความพอใจที่ลูกค้าต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากกว่าคู่แข่งขัน นั่นคือ แนวความคิดทางการตลาดจะต้องประกอบด้วย

3.1 บริษัทจะต้องสนองความต้องการแก่กลุ่มลูกค้าที่กำหนด

3.2 บริษัทจะต้องรู้ว่าการสนองความต้องการของลูกค้าจะต้องมีการทำโปรแกรมการวิจัยตลาดเพื่อเรียนรู้ความต้องการเหล่านั้น

3.3 บริษัทจะต้องรู้ว่ากิจกรรมของบริษัททั้งหมดที่มีผลต่อลูกค้าจะต้องควบคุมหรือประสานงานกัน

3.4 บริษัทเชื่อว่า การทำให้ลูกค้าพอใจจะทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีในตรายี่ห้อเกิดการซื้อซ้ำและมีการพูดกันต่อๆ ไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

นักธุรกิจหลายคนและสาธารณชนสับสนระหว่างแนวความคิดสินค้า กับแนวความคิดการตลาดนายเลวิท (Levitt) ได้เสนอข้อแตกต่างของการเน้นระหว่างแนวความคิด 2 แนวคิดที่ว่า

การขาย เน้น ความต้องการของผู้ขาย

การตลาด เน้น ความต้องการของผู้ซื้อ

การขาย เป็นความต้องการของผู้ขายที่พยายามเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเงิน

การตลาด เน้นการสนองความพอใจ ความต้องการของลูกค้า โดยผลิตสินค้าให้ถูกต้องและมีสิ่งอันประกอบด้วย

a)Selling Concept

Focus Means End

Product Selling Profit through

& Promoting Sales volume

b)Marketing Concept

Focus Means End

Customer Integrated Profit through

Needs marketing customer satisfaction

แนวความคิดด้านการตลาดกลับกับหลักแนวความคิดด้านการขาย ดังแสดงข้อแตกต่างในรูปที่ 1.1 แนวความคิดด้านการขายเริ่มจากสินค้าบริษัทที่มีอยู่และพิจารณางานของการใช้การขายและการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นจำนวนขายที่มีกำไร แนวความคิดการตลาดเริ่มจากบริษัทและกลุ่มลูกค้า เพื่อสนองความต้องการเหล่านี้ และให้ได้กำไรโดยต้องสร้างความพอใจให้ลูกค้านั่นคือ ธุรกิจที่มีแนวความคิดทางการตลาดให้ความสำคัญต่อลูกค้า โดยการใช้วิธีทางการตลาดต่างๆ ผสมผสานกัน เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญของธุรกิจ

4. แนวความคิดด้านการตลาดและสังคม

เป็นแนวความคิดที่สมัยใหม่ เริ่มมาจากมีผู้เห็นว่าการที่นำเอาแนวความคิดทางการตลาดมาใช้นั้นจะเหมาะสมกับจุดประสงค์ของบริษัทต่อไปอีกหรือไม่ ในเมื่อสภาพสังคมปัจจุบันกำลังเสื่อมลง เกิดการขาดแคลนทรัพยากร มีการเจริญเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วๆ ไปปัญหาคือบริษัทให้ความพอใจแก่ลูกค้าในสิ่งที่ลูกค้าสนใจ และเพื่อสังคมในระยะยาวหรือเปล่า แนวความคิดทางการตลาดมองข้ามข้อขัดแย้งระหว่างการสนองความพอใจของแต่ละบุคคลกับการสนองความสนใจของประชาชนในระยะยาว

เช่น ประชาชนมีความต้องการใช้รถยนต์มากขึ้น บริษัทรถยนต์ต่างๆ ผลิตรถยนต์หลายแบบเพื่อสนองความต้องการลูกค้า และเพื่อเอาใจลูกค้า แต่ใครจะคิดบ้างว่า การมีรถยนต์มากทำให้อากาศเป็นพิษ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำมันอย่างฟุ่มเฟือยและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากครั้งเป็นต้น

สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่แทนแนวความคิดทางการตลาดซึ่งอาจเรียกว่าแนวความคิดด้านการตลาดที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม นั่นคือเป็นการบริหารงานที่เน้นในการให้ความพอใจแก่ลูกค้า และเป็นความพอใจในระยะยาว รวมทั้งคำนึงถึงสวัสดิภาพสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมาย และมีความรับผิดชอบด้วย

แนวความคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า

4.1 สิ่งสำคัญขององค์การคือ การสร้างความพอใจและความมีสุขภาพดีแก่ลูกค้า เพื่อให้มีการดำรงชีวิตที่ดีกว่า

4.2 องค์การหาสินค้าที่ดี ที่สามารถดึงดูดใจของผู้บริโภค และเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคด้วย

4.3 องค์การหลีกเลี่ยงการขายสินค้าที่ไม่เป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่

4.4 ผู้บริโภคจะรู้สึกและอุปถัมภ์องค์การที่แสดงให้เห็นว่าเน้นความพอใจ และสวัสดิการสังคม

แนวความคิดด้านการตลาดและสังคม แตกต่างจากความคิดด้านการตลาด ก็เพียงแต่เพิ่มความพอใจในระยะยาวและสวัสดิภาพสังคม นั่นคือ แนวความคิดด้านการตลาดและสังคม จะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ

- ความต้องการลูกค้า

- ความสนใจของลูกค้า

- ความมุ่งหมายของบริษัท

- สวัสดิภาพสังคม

การบริหารการตลาด

การบริหารการตลาด

การบริหารการตลาด หมายถึง การวิเคราะห์ การวางแผน การปฏิบัติงานและควบคุมโปรแกรมการตลาด ที่จะนำมาซึ่งความพอใจจากการแลกเปลี่ยนกับตลาดเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ขององค์การที่ตั้งไว้ ซึ่งเน้นหนักในด้านสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายและต้องให้เกิดความพอใจด้วย โดยการกำหนดราคา การสื่อสาร และการจัดจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบอกกล่าว กระตุ้นและสนองคาวามต้องการของตลาดนั้นๆ

งานขั้นพื้นฐานของการตลาด

งานที่สำคัญขั้นแรกของผู้จัดการการตลาด คือ พยายามกระตุ้นให้ตลาดเกิดความต้องการสินค้าหรือบริการของบริษัท

การบริหารการตลาดเป็นงานเกี่ยวกับการกำหนดระดับช่วงเวลา และลักษณะของความต้องการในทางที่จะช่วยให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ นั่นคือการบริหารการตลาด คือการริหารงานเกี่ยวกับความต้องการ หรืออุปสงค์

องค์การต่างๆ มักจะกำหนดระดับการแลกเปลี่ยนกับตลาด ณ ระดับที่พอใจ แต่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งระดับความต้องการอาจจะต่ำลง เท่ากับหรือสูงกว่าความต้องการที่พอใจซึ่งนำไปสู่การกล่าวถึงลักษณะความต้องการหรืออุปสงค์ 8 แบบที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ลักษณะอุปสงค์เป็นลบ(Negative demand)

หมายถึง สถานการณ์ที่กลุ่มตลาดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนตลาดไม่ชอบผลิตภัณฑ์หรือบริการ และพยายามที่จะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นั้น เช่น คนที่เมาเครื่องบินจะไม่ชอบเดินทางโดยเครื่องบิน หรือคนที่ชอบรับประทานแต่ผัก จะไม่ชอบรับประทานเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ หรือนักท่องเที่ยวส่วนมากจะไม่มีความต้องการไปที่ขั้วโลกเหนือ เป็นต้น

ดังนั้นเป็นหน้าที่ของนักการตลาดที่จะวางแผนเปลี่ยนแปลงความต้องการที่เป็นลบให้เป็นบวก หรือ คือเปลี่ยนจากการ “ไม่ชอบ” เป็น “ชอบ” สินค้านั้น ซึ่งเราเรียกงานการตลาดนี้ว่า การตลาดผกผัน

2. ไม่มีอุปสงค์ หรืออุปสงค์เป็นศูนย์ (No demand)

หมายถึงตลาดไม่มีความต้องการหรือสนใจสินค้าที่เสนอ แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ

1.1 สินค้านั้นเป็นของที่ไม่มีคุณค่า เช่น ขวดเปล่าของสินค้าที่ใช้แล้ว

1.2 สินค้านั้นเป็นของที่ไม่มีค่าในบางตลาด เช่น อุปกรณ์การเล่นสกีน้ำแข็ง ไม่มีคุณค่าในตลาดในประเทศไทย หรือเรือไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีบ่อหรือสระน้ำ

1.3 สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ตลาดไม่รู้จักคุณค่า เช่น คนบางคนไม่รู้คุณค่าของเครื่องลายครามบ้านเชียงเป็นต้น จึงไม่มีความต้องการ หรือเป็นสินค้าที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ คนจึงยังไม่รู้จักและไม่รู้คุณค่า

เพราะฉะนั้นจึงเป็นงานของนักบริหารการตลาดที่จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ซึ่งเรียกว่าการตลาดเพื่อกระตุ้น แม้ว่าจะเป็นงานที่ไม่ง่าย แต่เราสามารถจะทำได้ดังนี้

2.1.1 พยายามทำให้สินค้านั้นเป็นที่ต้องการในตลาดนั้น เช่น ขวดเปล่ามาต่อเป็นเก้าอี้ใช้นั่งได้จริงๆ หรือกระป๋องน้ำอัดลมมาทำเป็นโคมไฟ เป็นต้น

2.1.2 เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งนั้นมีค่าแก่สภาวะแวดล้อม เช่น อาจจะขุดสระน้ำเพื่อให้เล่นเรือได้ หรือสร้างลานหิมะเทียมเพื่อให้คนเล่นสกี ดังเช่นที่ประเทศดูไบทำมาแล้ว เป็นต้น

2.1.3 พยายามกระจายและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความต้องการ

3. อุปสงค์แอบแฝง (Latent demand)

หมายถึงกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมีความต้องการบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่มีในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักการตลาดที่จะคิดค้นการผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ประชาชนต้องการ แต่ยังไม่มีใครริเริ่ม เช่น อาจมีผู้ต้องการบุหรี่ชนิดที่ไม่มีควันที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา หรือผู้ที่ยังโสดและมีเงินพอที่จะซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่ขาดผู้อาศัยด้วย ทางผู้จัดการบ้านจัดสรรอาจจะเสนอบ้านพร้อมทั้งคนอยู่ดูแลบ้านด้วยก็ได้ เป็นต้น

4. อุปสงค์ลดถอย (Faltering demand)

เป็นลักษณะความต้องการที่มีระดับน้อยลงกว่าเดิมลำลังจะเริ่มตกลงทุกทีๆ เช่น กิจการรถไฟ

เพราะฉะนั้นนักการตลาดต้องทำการตลาดมุ่งฟื้นอุปสงค์(remarketing) คือพยายามฟื้นฟูช่วงชีวิตของสินค้า โดยการหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ

1. อุปสงค์ที่ไม่สม่ำเสมอ(Irregular demand)

ธุรกิจหลายแห่งพอใจที่จะให้มีระดับความต้องการสม่ำเสมอมากกว่าที่จะให้มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ถ้ามีอุปสงค์มากเกินไปก็จะไม่มีอุปทานเสนอสนอง หรือช่วงที่มีอุปสงค์น้อย แต่อุปทานมากก็จะทำให้สินค้าค้างต๊อกมาก เหตุผลที่อุปสงค์มีลักษณะไม่แน่นอนนี้อาจจะเป็นเพราะฤดูกาล หรือความผันผวน เช่น ความต้องการโรงแรมตามสถานที่ตากอากาศหลายแห่งในฤดูร้อนจะมีอุปสงค์มาก ส่วนในฤดูหนาวจะมีอุปสงค์น้อย เป็นต้น

งานของนักการตลาดคือ พยายามแก้อุปสงค์ที่ผิดปกตินี้ โดยการพยายามทำให้อุปสงค์และอุปทานพอเหมาะกัน เช่น คิดค่าอัตราค่าที่พักแพงในช่วงฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวลดอัตราให้ถูกลง หรือจัดให้มีโปรแกรมดีที่น่าสนใจ เช่น จัดแฟชั่นโชว์ หรือดนตรีในช่วงฤดูหนาว เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ เป็นต้น

2. อุปสงค์เต็มขั้น (Full demand)

หมายถึง ตลาดมีความต้องการมากพอตามระดับที่ต้องการ ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ขายพอใจ อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่านักการตลาดจะอยู่นิ่งเฉย เพราะความต้องการตลาด หรืออุปสงค์ขึ้นอยู่กับแรงผลัก 2 ประการ

ก. ความต้องการและรสนิยมในตลาดเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ข. คู่แข่งขันที่กระตือรือร้น เมื่อสินค้าขายดี ย่อมมีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดอย่างรวดเร็วและพยายามดึงเอาระดับความต้องการจากบริษัทออกไป

ค. งานของนักการตลาด คือ การรักษาระดับการตลาด (maintenance marketing) คือพยายามรักษาประสิทธิภาพของกิจกรรมการตลาดวันต่อวัน เช่น รักษาระดับราคาให้ถูกต้อง บริการงานขายให้ดี กระตุ้นตัวแทนจำหน่าย และควบคุมต้นทุนของสินค้า เป็นต้น

7. อุปสงค์ล้นเหลือ (overfull demand)

หมายถึงอุปสงค์ที่เกินระดับที่นักการตลาดจะสามารถเสนอสนองให้ได้ เมื่อผู้ผลิตเผชิญกับระดับความต้องการที่ไม่คาดคิด

งานของนักการตลาดคือ พยายามลดความต้องการส่วนเกินซึ่งเราเรียกว่า การชะลอความต้องการของตลาด คือไม่กระตุ้นลูกค้าให้เกิดความต้องการ เช่น อาจขึ้นราคาสินค้าให้สูงขึ้น หรือลดการส่งเสริมการขายให้น้อยลง

8. อุปสงค์ที่ไม่มีประโยชน์ (Unwholesome demand)

หมายถึง ความต้องการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพราะจะทำให้สุขภาพของประชาชนแย่ลง หรือสินค้านั้นมีคุณภาพไม่ดีพอ

งานของนักการตลาด คือ พยายามทำลายความต้องการนั้นเสีย คือ ถ้าบริษัทเราขายสินค้าอยู่กควรจะเลิกขาย เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่ปรารถนา

ความหมายของ"การตลาด"

คำว่า “การตลาด” ได้มีผู้ให้ความหมายของคำจำกัดความไว้หลายประการด้วยกัน เช่น

- หมายถึง กระบวนการธุรกิจในการทำให้เกิดการซื้อขายและนำความพอใจสูงสุดมาสู่ผู้ผลิตและ
ผู้บริโภค

- หมายถึง กระบวนการดำเนินการธุรกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อวางแผนผลิตภัณฑ์และหรือการบริการกำหนดราคา ส่งเสริมการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพอใจ

ถ้าพิจารณาความหมายของการตลาด ตามหลักเหตุผลของมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์เราจะให้คำจำกัดความได้ดังนี้

“การตลาด หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ที่มุ่งสนองความต้องการ โดยกระบวนการแลกเปลี่ยน”

เมื่อมนุษย์เกิดความจำเป็นที่ต้องการอากาศหายใจ ต้องการอาหารและน้ำ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ต้องการเสื้อผ้าสวมใส่และอื่นๆ เพื่อสนองความต้องการและความพอใจ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่การตลาด การที่จะมีการตลาดจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โอกาสที่มนุษย์จะได้สินค้าที่จะทำให้เขาพอใจ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 การช่วยตัวเอง คือ เมื่อมนุษย์เกิดความต้องการทางอาหาร ก็จะดับความต้องการของตนโดยพยายามตกปลา ล่าสัตว์ หรือเก็บผลไม้รับประทานเอง โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับใคร ในกรณีนี้ถือว่าไม่มีตลาด และไม่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทางเลือกที่ 2 การบังคับขู่เข็ญ เมื่อมนุษย์เกิดความหิวและไม่มีความสามารถหาอาหารได้ ก็อาจจะขโมยอาหารของคนอื่น

ทางเลือกที่ 3 การอ้อนวอน เมื่อเกิดความต้องการ มนุษย์จะขอความกรุณาจากผู้อื่นให้บริจาคอาหาร

ทางเลือกที่ 4 การแลกเปลี่ยน เมื่อมนุษย์เกิดความต้องการจะพยายามติดต่อผู้ที่มีอาหารและจะยื่นข้อเสนอบางสิ่งบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารนั้น โดยการให้เงิน สินค้าอื่น หรือบริการใดๆ ก็ได้เป็นการแลกเปลี่ยน

ดังนั้นการตลาดเกี่ยวข้องกับทางเลือกสุดท้าย คือการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สินค้าและบริการเพื่อให้มนุษย์พอใจ และสนองความต้องการ การแลกเปลี่ยนจะต้องประกอบด้วยสภาวการณ์ดังต่อไปนี้

1. ต้องมีบุคคล 2 กลุ่ม

2. แต่ละกลุ่มต้องมีสิ่งที่มีคุณค่าต่ออีกฝ่ายหนึ่ง

3. แต่ละกลุ่มจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารคมนาคม และการขนส่ง

4. แต่ละกลุ่มต้องมีอิสรภาพในการตอบรับหรือปฎิเสทข้อเสนอ

ถ้าการแลกเปลี่ยนประกอบด้วยสภาวการณ์ทั้ง 4 ดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นแต่จะมีการเปลี่ยนจริงๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า 2 กลุ่มนั้นจะสามารถหาข้อตกลงในการแลกเปลี่ยน ที่จะให้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรืออย่างน้อยไม่เสียผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

แนวความคิดของการแลกเปลี่ยนนำมาสู่แนวความคิดของตลาด

คำว่า “ตลาด” หมายถึง สถานที่ที่สำหรับการแลกเปลี่ยน

ตัวอย่าง สมมุติว่านักศิลปะผู้หนึ่งใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ในการปั้นรูปผู้หญิงอย่างสวยงาม เขาได้กำหนดระดับราคาหนึ่งเอาไว้ในใจสำหรับสินค้านี้ คำถามที่เขาคำนึงคือ จะมีใครเต็มใจแลกเปลี่ยนเงินจำนวนนั้นกับรูปปั้นหรือไม่ ถ้ามีอย่างน้อย 1 คน เราเรียกได้ว่ามีตลาด ส่วนขนาดของตลาดจะแตกต่างกันตามราคา นักศิลปะผู้นี้อาจจะเรียกร้องราคาสูงมาก จนกระทั่งไม่มีผู้ใดซื้อรูปปั้นนั้น แต่ถ้าเขาลดราคาลงขนาดของตลาดเพิ่มขึ้น เพราะคนสามารถจะมีเงินจ่ายเพื่อรูปปั้นนั้นได้ ดังนั้นขนาดของตลาดขึ้นกับจำนวนคนที่จะต้องมีทั้ง

1. ความสนใจในสินค้า และ

2. เต็มใจที่จะเสนอแลกเปลี่ยนเพื่อสินค้านั้น

ที่ใดมีโอกาสจะมีการค้าเกิดขึ้น ที่นั่นมีตลาด คำว่า “ตลาด” ถูกใช้บ่อยในความหมายของความต้องการมนุษย์ หรือความต้องการประเภทสินค้า กลุ่มประชากรศาสตร์ และตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างของตลาดความต้องการมนุษย์ คือ การพักผ่อน คนเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนเงินกับการฝึกหัดโยคะหรือการหัดทำอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างของตลาดสินค้า คือตลาดรองเท้า คนเต็มใจที่จะแลกเงินกับสิ่งของคือรองเท้า ตลาดเชิงประชากรศาสตร์ คือ ตลาดเด็กทารก หรือตลาดเด็กวัยรุ่น ที่ชอบแลกเปลี่ยนเงินกับเครื่องเสียงและเครื่องกีฬาเป็นต้น ส่วนตลาดเชิงภูมิศาสตร์ได้แก่ตลาดคนไทย ตลาดคนญี่ปุ่น เป็นต้น

แนวความคิดของตลาดครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนของทรัพยากรด้วย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินแต่เพียงอย่างเดียว เช่น นักการเมืองที่สมัครเป็นผู้แทนราษฎร อาจจะเสนอข้อสัญญาว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดีกับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกคะแนนเสียง เป็นต้น

แนวความคิดของตลาด การตลาดหมายถึงการทำงานเกี่ยวข้องกับตลาด การพยายามที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้มนุษย์ได้รับความพอใจต่อสิ่งที่ต้องการ นั่นคือคำจำกัดความของการตลาด คือการกระทำของมนุษย์ที่มุ่งให้เกิดความพอใจในการสนองความต้องการ โดยกระบวนการ การแลกเปลี่ยน

แนวความคิดทางการตลาด

ในขณะที่โลกของเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 ความฝันหลายๆ อย่างก็ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว เช่น การกินยาเม็ดเล็กๆ แทนการกินอาหาร การเลือกเพศบุตรของตนและอื่นๆ อีก ดังนั้นแนวความคิดการตลาดได้เพิ่มความสำคัญขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะนอกเหนือจากการเพิ่มพูนของประชากรโลกอย่างรวดเร็ว ทุกคนมีความต้องการที่จะได้สินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิม และใช้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการตลาด บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กได้เห็นความสำคัญของการตลาดมากขึ้น พร้อมทั้งจัดองค์การตามแนวความคิดทางการตลาด

รัฐบาลในอดีตมักไม่เคยให้ความสำคัญกับแนวความคิดทางการตลาด แต่ปัจจุบันก็ได้เน้นและให้ความสนใจตลอดจนนำแนวคิดทางการตลาดเป็นเครื่องมือในการหาตลาดและขายสินค้าที่ประเทศตนมีเหลือเฟือไปยังต่างประเทศ มีการชักชวนด้วยแคมเปญต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างประเทศมาพักผ่อนท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ที่ต้องการจะได้รับการพัฒนา นักการเมืองทั่วโลกค้นพบว่าการตลาดสามารถช่วยให้ตนชนะการเลือกตั้งได้ การแนะนำผู้สมัครเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง การหาจุดยืนทางการเมือง ใช้วิธีและแนวทางการตลาดเช่นเดียวกับการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด โดยการวิเคราะห์วิจัยความต้องการประชาชน เพื่อสร้างจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง ใช้การส่งเสริมและการโฆษณาหาเสียงมากวิธี เพื่อที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่ตนต้องการ และมีการทำการทดสอบความต้องการและความชอบของประชาชนด้วย

ความสำคัญของการตลาดสินค้าและบริหารได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ความเหมาะสม
และตามความต้องการของระบบเศรษฐกิจโดยทั่วๆ ไป การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีมาตั้งแต่สมัย
ดึกดำบรรพ์ แต่แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกันตามยุคสมัย ในสมัยการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ความสำคัญของระบบการตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขายการโฆษณาหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตสินค้าจำนวนมากโดยใช้แรงงานน้อยที่สุด เพื่อสนองความต้องการของชาวโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะนั้นบริษัทต่างๆ ก็ได้พยายามที่จะคิดค้นเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มกำลังผลิตของตนให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ต่อมาเมื่อปัญหาทางด้านการผลิตได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความสนใจก็เปลี่ยนไปเป็นการเน้นทางด้านการบริหารการเงินที่มีสมรรถภาพสูง เพื่อช่วยให้มีกำไรมากขึ้น กิจการส่วนใหญ่ในระยะนี้เน้นหนักไปทางการบริหารการเงิน การรวมบริษัท และการขยายบริษัท

ในสมัยถัดมา เมื่อปัญหาทางด้านการผลิตมิได้เป็นปัญหาอีกแล้ว และบริษัทส่วนใหญ่ก็เริ่มมีกำลังผลิตมากมายเหลือความต้องการ ความพยายามต่างๆ ก็เน้นมาทางด้านการแนะนำสินค้าแลการขายสินค้าออกไปยังตลาด กิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งไปทางด้านการขยายทีมพนักงานขาย และพัฒนาพนักงานขายให้มีสมรรถภาพที่เข้มแข็ง การตั้งชื่อสินค้าให้สละสลวย การบรรจุหีบห่อสินค้าให้สะดุดตายิ่งขึ้น มีการโฆษณาและการส่งเสริมสินค้า แนวความคิดในสมัยนี้อาจจะเรียกได้ว่าแนวความคิดทางการขาย เพราะจุดเน้นเริ่มจากตัวสินค้าและความสามารถของพนักงานขายที่จะขายสินค้าออกไป เมื่อเกิดมีการแข่งขันทางด้านขายมากๆ บริษัทที่มีทุนทรัพย์น้อยและมีพนักงานขายที่ด้อยกว่าก็จำต้องเปิดทางให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าและเข้มแข็งกว่า

แนวความคิดทางด้านการขายอยู่ไม่ได้นาน เพราะในสมัยที่ความเจริญทางเทคโนโลยีได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ติดตามมาอย่างไม่ขาดสาย ในขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ ก็พยายามหาทางพิชิตปัญหาเหล่านี้อยู่อย่างขะมักเขม้น แต่ก็ยังล้าหลังความเจริญทางด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นแนวความคิดทางด้านการขายได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นแนวความคิดทางด้านการตลาด โดยการเบนความสนใจไปที่ความต้องการของลูกค้า แทนที่จะเป็นตัวสินค้าเอง


 
 

Lorem Ipsum

Followers

Lorem Ipsum